การพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก (Fine-Motor Development) ในเด็กสำคัญอย่างไร

Happy Nursery Baby Girl Playing With Colorful Rubber Ball Home 215497 318

กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก (Fine-Motor Development Activities) หมายถึง กิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมือและตาให้ทำงานอย่างประสานสัมพันธ์ที่ดี ได้แก่ กิจกรรมที่เด็กได้หยิบจับสิ่งของ ตุ๊กตา เครื่องเล่น ตลอดจนการช่วยตนเองในการแต่งตัว การทำความสะอาดร่างกาย การรับประทานอาหาร ตลอดจนกิจกรรมศิลปะต่างๆที่เด็กได้ทำที่โรงเรียนเพื่อการพัฒนาของกล้ามเนื้อเล็ก ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการควบคุมและการทำงานประสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกล้ามเนื้อมือและตาในการทำกิจกรรมต่างๆที่ต้องใช้มือและตาในการบังคับควบคุม เช่น การหยิบจับสิ่งของ การหิ้วหรือถือของ การร้อยพวงมาลัย การจับดินสอหรือสีในการวาดรูปหรือขีดเขียนในเด็กปฐมวัย

การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเล็กมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือ ตา เพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของร่างกายได้อย่างประสานสัมพันธ์กัน และเพื่อวางรากฐานในการใช้มือที่ถนัดและเตรียมความพร้อมที่จะเขียนและอ่านต่อไป แต่ครูและผู้ปกครองส่วนมากมักผลักดันให้เด็กฝึกการเขียนในขณะที่เด็กยังไม่พร้อม กล้ามเนื้อเล็กยังไม่พัฒนา ทำให้เด็กเกิดความเครียดและไม่มีความสุขในการเขียน และอาจมีผลในเชิงลบต่อการเรียนรู้ทักษะทางภาษาในอนาคตต่อไปด้วย

กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็กสำคัญอย่างไร?

เด็กในแต่ละช่วงอายุมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา แต่พัฒนาการที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน คือ พัฒนาการด้านร่างกาย โดยสังเกตได้จากการเจริญเติบโตของร่างกายอันได้แก่ส่วนที่เป็นน้ำหนักตัวและส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลมาจากภาวะโภชนาการและพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องอาหารการกินจากครอบครัวและโรงเรียน ส่วนพัฒนาการด้านร่างกายไม่ได้หมายถึงเฉพาะพัฒนาการในส่วนที่เป็นการเจริญเติบโตที่สามารถมองเห็นในส่วนของน้ำหนักและส่วนสูงเท่านั้น แต่พัฒนาการด้านร่างกายครอบคลุมองค์ประกอบต่างๆ 5 ส่วนดังนี้ 

  1. การเจริญเติบโตทางกายภาพ (Physical Growth) 
  2. วุฒิภาวะ (Maturation) 
  3. ประสาทสัมผัสและการรับรู้ (Sensation and Perception) 
  4. การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใหญ่ (Gross Motor) 
  5. การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเล็ก (Fine Motor) 

กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยได้แก่ กล้ามเนื้อนิ้วมือและกล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการเขียนของเด็ก เนื่องจากกล้ามเนื้อเล็กเป็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหยิบจับสิ่งของตุ๊กตาและของเล่น การดึง การกด การหยอดบล็อก ตลอดจนการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น การติดกระดุม การผูกเชือกรองเท้า การจับช้อน- ส้อมในการรับประทานอาหาร การอาบน้ำแปรงฟัน เด็กที่มีสายตาดีจะเที่ยวมอง ค้นหาสำรวจสิ่งต่างๆด้วยความอยากรู้อยากเห็น เมื่อพบสิ่งของที่น่าสนใจเด็กจะหยิบจับสิ่งนั้น การใช้ตาดูสิ่งของและจับสิ่งนั้นได้เป็นความสามารถในการใช้ประสาทตาและประสาทนิ้วมืออย่างประสานสัมพันธ์ การพัฒนากล้ามเนื้อเล็กจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้กล้ามเนื้อเล็กได้อย่างประสานสัมพันธ์ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเล็กของเด็กเป็นพัฒนาการที่เป็นพื้นฐานของการเขียน ครูและผู้ปกครองส่วนมากมักผลักดันเด็กให้ฝึกเขียนในขณะที่เด็กยังไม่พร้อม กล้ามเนื้อเล็กยังไม่พัฒนา ทำให้เด็กไม่มีความสุข และไม่สนุกกับการเขียน ก่อนที่ครูจะให้เด็กเขียน จึงต้องพิจารณาสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้ 

  1. พัฒนาการทางกล้ามเนื้อเล็ก 
  2. การประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา 
  3. ความสามารถในการจับดินสอ
  4. ความสามารถในการขีดเส้นพื้นฐาน 
  5. การรับรู้ตัวอักษร 
  6. ความคุ้นเคยกับตัวอักษร 

ทั้ง 6 ประการมีข้อ 1 ถึง 4 ที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อเล็ก ส่วนข้อ 5 และ 6 เป็นเรื่องการรับรู้ เด็กจะมีความสามารถในการเขียนเมื่อเด็กควบคุมข้อมือและกล้ามเนื้อนิ้วมือ ความสามารถนี้เกิดขึ้นได้โดยการหยิบจับหรือเล่นกับวัสดุอุปกรณ์และเกมต่างๆ เช่น การเล่นหยอดบล็อก การปั้นดินน้ำมัน การเล่นภาพตัดต่อ การเล่นก่อสร้าง การเล่นน้ำเล่นทราย การรูดซิป การผูกเชือกรองเท้า การติดกระดุมเสื้อ การใช้กรรไกรตัดกระดาษ การวาดภาพระบายสี และการทำกิจกรรมศิลปะอื่นๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็กเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความพร้อมในการเขียนซึ่งเป็นทักษะทางภาษาของเด็กปฐมวัย

กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็กมีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?

การจัดกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็กมีความสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติ ปัญญาของเด็กปฐมวัย ซึ่งสามารถอธิบายถึงประโยชน์ที่มีต่อเด็กดังนี้ 

  • การจัดกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็กมีความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมในการเขียน ซึ่งต้องอาศัยการประสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสายตากับมือ ตลอดจนการควบคุมกล้ามเนื้อมือและแขน 
  • ช่วยให้เด็กได้พัฒนาสมองและความฉับไวในการคิด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของเพียเจท์ (Piaget) ที่กล่าวว่า สติ ปัญญากับการเคลื่อนไหวมีความสัมพันธ์กัน เมื่อเด็กได้เคลื่อนไหว สมองของคนเราก็จะทำงานไปพร้อมๆกัน การฝึกฝนความคล่องแคล่วว่องไวของการใช้กล้ามเนื้อมือที่ประสานสัมพันธ์กันอย่างมากกับการคิดอันฉับไวของเด็ก และในทางตรง กันข้าม เด็กที่ไม่มีความสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือได้อย่างคล่องแคล่วมักจะคิดอะไรช้าด้วย 
  • เป็นการส่งเสริมเด็กในด้านการแสดงออกทางด้านความรู้สึกและจินตนาการ การจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อเล็กประเภทกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ การวาดภาพระบายสี การปั้นดินน้ำมัน การทดลองด้วยสี การตัด พับ ฉีกปะกระดาษ การทำศิลปะประดิษฐ์ ฯลฯ 
  • เพื่อพัฒนาความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือและตาให้สัมพันธ์กัน การบังคับกล้ามเนื้อทั้งสองส่วนนี้จะพัฒนาเด็กให้มีความสามารถในการหยิบจับสิ่งของต่างๆได้อย่างมั่นคง เช่น เมื่อเด็กได้รับการฝึกฝนจนกล้ามเนื้อประสานสัมพันธ์กันดีแล้ว เด็กจะจับดินสอได้อย่างมั่นคง มีความพร้อมในการเขียนหรือการใช้มือในการทำกิจ กรรมอื่นๆ การจับช้อน ส้อมในการรับประทานอาหาร การถือสิ่งของ การแปรงฟัน ฯลฯ 
  • ส่งเสริมให้เด็กมีความพร้อมในการอ่าน การทำงานประสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกล้ามเนื้อมือและตาจะช่วยให้เด็กสามารถที่จะใช้สายตาในการมองตัวหนังสือ การหยิบจับหนังสือ และมองตัวอักษรในหนังสือจากซ้ายไปขวา อันเป็นพื้น ฐานในการฝึกอ่านอย่างคล่องแคล่วในระดับต่อไป 
  • ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ในการสำรวจ เปรียบเทียบ และแบ่งประเภทของสิ่งต่างๆรอบตัว 
  • เด็กได้สร้างภาพพจน์ของตนเองและทักษะทางสังคม ทำให้ร่วมเล่นและทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนได้ 
  • สามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวันได้

ครูจัดกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็กอย่างไร?

ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กมีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยกล้ามเนื้อเล็กเป็นอวัยวะหนึ่งในการประกอบกิจกรรมต่างๆของเด็ก เช่น ติดกระดุม การผูกเชือกรองเท้า การเทน้ำใส่แก้ว การดื่มนม การรับ ประทานอาหาร การทำงานศิลปะ รวมทั้งการขีดเขียน ถ้าเด็กสามารถใช้กล้ามเนื้อเล็กได้อย่างคล่องแคล่ว จะช่วยพัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการทางด้านต่างๆดีไปพร้อมๆกัน ดังนั้นครูปฐมวัยจึงจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อเล็กให้กับเด็กปฐมวัย ดังนี้

  • กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 
    • การปั้น ได้แก่ การปั้นดินน้ำมัน การปั้นดินเหนียว การปั้นทรายผสมกาวและน้ำ การปั้นแป้งโด เป็นเรื่องราวหรือตามจินตนาการของเด็ก การใช้หมุดหรือไม้จิ้มฟันเล่นกับแป้งโด การใช้มีดพลาสติกตัดแป้งโด
    • การวาดภาพระบายสี เช่น การวาดภาพระบายสีด้วยสีเทียนหรือสีไม้ การวาดภาพด้วยพู่กันหรือแปรงทาสีอันเล็กๆ และใช้สีน้ำ สีฝุ่น หรือสีโปสเตอร์ การวาดภาพด้วยนิ้วมือด้วยแป้งมันผสมสีหรือโคลน การวาดภาพด้วยกาวน้ำ โรยทรายสี หรือโรยขี้เลื่อยไม้ป่นผสมสี หรือกาบมะพร้าวป่นผสมสี วาดภาพด้วยเชือกหรือหลอดด้าย 
    • การพิมพ์ภาพ เช่น การพิมพ์ภาพด้วยเศษวัสดุหรือฟองน้ำหรือกระดาษขยุ้มหรือใบไม้ ก้านกล้วย 
    • การทดลองด้วยสี เช่น การเทสี การหยดสี การพับสี การจุ่มสี การกลิ้งสี การทับสี การเป่าสี การลูบสี การละ เลงสีด้วยนิ้วมือ มือ ข้อศอก 
    • งานกระดาษ เช่น การฉีก พับ ตัด ปะกระดาษ การขยำกระดาษ การม้วนกระดาษ การถักสานกระดาษ 
    • ประดิษฐ์จากเศษวัสดุ เช่น การประดิษฐ์รถลาก การประดิษฐ์ตุ๊กตา หุ่นมือ หุ่นนิ้วมือ การประดิษฐ์ของใช้อื่นๆ
  • กิจกรรมการเล่นตามมุมหรือกิจกรรมเสรี ประกอบด้วย 
    • มุมเครื่องเล่นสัมผัส เช่น การร้อยลูกปัด การร้อยดอกไม้ การเย็บกระดุม การรูดซิป การเรียงสี การเล่นหรือเรียงไม้หนีบ การปักหมุด การหยอดบล็อก 
    • มุมบล็อก เช่น การต่อบล็อกต่างๆ บล็อกไม้ บล็อกพลาสติก บล็อกชุด บล็อกกลวง บล็อกผลิตเอง การต่อตัวต่อพลาสติกต่างๆ 
    • มุมช่างไม้ เช่น การตอกตะปู การต่อไม้ การสร้างบ้านจำลอง การเล่นชุดเครื่องเล่นช่างไม้ 
    • มุมดนตรี เช่น การเขย่าลูกแซ็ค การตีกลอง ตีฉาบ ตีฉิ่ง ตีระนาด เป่าปี่ ดีดเปียโน ดีดกีตาร์ การเล่นดนตรีพื้น บ้านของแต่ละภาค หรือการประดิษฐ์เครื่องดนตรีจากเศษวัสดุเหลือใช้ 
    • มุมวิทยาศาสตร์เช่น การเล่นแท่งแม่เหล็ก การสัมผัสถุงทราย ถุงใส่เมล็ดธัญพืช การจำแนกเปลือกหอยตามสี รูปร่าง การจับหรือสัมผัสสมุดสะสมดอกไม้หรือใบไม้ การจำแนกเสียงจากการตีขวดน้ำผสมสีที่มีปริมาณต่างกัน 
    • มุมคณิตศาสตร์ เช่น การชั่งสิ่งของต่างๆด้วยตาชั่ง การนับจำนวนเมล็ดผลไม้ต่างๆ การเปรียบเทียบขนาดของผลไม้ การจัดกลุ่มสื่อหรือวัสดุประจำมุมคณิตศาสตร์ตามเกณฑ์ต่างๆที่เด็กเลือก การเรียงลำดับวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้เรียนรู้ประจำหน่วยจากเล็กไปหาใหญ่หรือใหญ่ไปหาเล็ก
    • มุมบ้านหรือมุมบทบาทสมมติ เช่น การเล่นบทบาทสมมติเป็นหมอหรือพยาบาล โดยใช้เครื่องมือแพทย์ ใช้เครื่องมือวัดไข้ การเล่นฉีดยาให้ผู้ป่วย การสวมเสื้ออาชีพต่างๆ การติดกระดุมเสื้อ การสวมรองเท้า การเล่นโทร ศัพท์ เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ตุ๊กตา 
    • มุมหนังสือ เช่น การเปิด ปิดหนังสือ การอ่านภาพหรืออ่านตัวหนังสือโดยกวาดสายตาจากซ้ายไปขวา 
    • มุมโรงหุ่นหรือโรงละคร เช่น การเชิดหุ่นมือ หุ่นนิ้วมือ หุ่นถุงกระดาษ 
  • กิจกรรมกลางแจ้ง ประกอบด้วย 
    • เกมพลศึกษา เช่น การแข่งขันโยนลูกบอลลงตะกร้า กิจกรรมเกมแข่งขันคีบลูกปิงปองด้วยไม้ตะเกียบ เกมขี่ม้าส่งเมือง การโยนรับลูกบอล เกมโยนถุงถั่วลงตะกร้า 
    • การละเล่นพื้นบ้าน เช่น การโยนห่วงยางหรือลูกช่วง การเล่นกำทาย การทอยราว การเล่นหมากเก็บ การเล่นหมากขุม การเล่นอีตัก การทอยลูกสะบ้า 
    • การเล่นดินหรือเล่นทรายในสนาม เช่น การใช้ไม้ขีดเขียนเล่นบนดิน การใช้มือขีดเขียนเล่นบนทรายเปียก การขุดอุโมงค์ การก่อเจดีย์ทราย 
  • กิจกรรมเสริมประสบการณ์ ประกอบด้วย 
    • การประกอบอาหาร เช่น การคลึงแป้งเป็นลูกกลมๆเพื่อทำขนมบัวลอย การเทน้ำส้มคั้นลงไปในแก้ว การเทแป้ง น้ำตาลลงในหม้อขนม การใช้ทัพพีตักข้าวใส่จาน การคนหรือกวนแป้งในกระทะ การใช้มีดสำหรับเด็กหั่นผักหรือผลไม้เป็นชิ้นๆเพื่อทำสลัดผัก ผลไม้ การจำแนกหรือจัดกลุ่มผลไม้หรือผัก การล้างผัก 
    • การทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น การทดลองเป่าฟองสบู่ กิจกรรมหมุดลอยน้ำ ทดลองกรองน้ำให้สะอาด การสัมผัสวัสดุที่อยู่ในกล่องทึบ คลิปกระดาษลอยน้ำ 
    • การศึกษานอกสถานที่ เช่น การสำรวจมด แมลงด้วยการส่องด้วยแว่นขยาย การจับหรือสัมผัสต้นไม้หรือเปลือกไม้เพื่อสำรวจว่ามีผิวเรียบ ขรุขระแตกต่างกันอย่างไร การวาดรูปหรือขีดเขียนเพื่อบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษานอกสถานที่ 
  • เกมการศึกษา ประกอบด้วย การฝึกการประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับมือจากการเล่นเกมจับคู่ เช่น การจับคู่ภาพที่เหมือนกัน การจับคู่ภาพกับคำ การจับคู่แบบอุปมาอุปไมย การจับคู่สิ่งของที่ใช้คู่กัน การจับคู่ภาพกับโครงร่าง เกมเรียงลำ ดับภาพ เรียงลำดับจำนวน เกมภาพตัดต่อ เกมอนุกรม เกมล็อตโต เกมโดมิโน 
  • กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ ประกอบด้วย 
    • การเคลื่อนไหวร่างกายประกอบเพลง เช่น การเคลื่อนไหวมือและนิ้วมือประกอบเพลง แมงมุม เพลงส้ม เพลงแตงโม เพลงโรงเรียนของเรา เพลงรถไฟ เพลงนิ้วมือของฉัน 
    • การเคลื่อนไหวร่างกายประกอบคำคล้องจอง เช่น การเคลื่อนไหวนิ้วมือประกอบคำคล้องจองไข่ 10 ฟอง คำคล้องจอง ฝนตกพรำๆ คำคล้องจองตบมือ คำคล้องจองนับจำนวน คำคล้องจองนับเลข 
  • กิจกรรมเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เช่น การตบมือ การสัมผัสอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย การเดินแบบปูด้วยนิ้วมือ การใช้มือเดิน (นิ้วมือ) การจับลูกโป่งหรือฟองสบู่ให้อยู่ในมือ การใช้มือข้างใดข้างหนึ่งเอื้อมข้ามศีรษะไปหยิบสิ่งของอีกด้านหนึ่ง 
  • การฝึกลีลามือ เป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อมไปสู่ทักษะการเขียน เช่น การลากเส้นจากซ้ายไปขวา การลากเส้นจากบนลงล่าง การเขียนเส้นโค้ง การลากเส้นตามรอยประ การเขียนเส้นพื้นฐานต่างๆเพื่อฝึกความมั่นคงของการใช้มือ นิ้วมือ และการประสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมือกับตา 

พ่อแม่ผู้ปกครองจะจัดกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็กได้อย่างไร?

พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในทุกด้าน โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านร่างกาย พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเล็ก เป็นการทำงานประสานกันระหว่างกล้ามเนื้อมือและตา ความมั่นคงแข็งแรงในการใช้มือและนิ้วมือในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ และการรับรู้ประสาทสัมผัสในส่วนที่เป็นมือและนิ้วมือ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรจัดกิจ กรรมที่บ้านเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเล็กให้กับลูกได้ดังนี้ 

  • จัดหาเครื่องเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเล็ก เครื่องเล่นหรือของเล่นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อเล็ก ของเล่นที่ช่วยส่งเสริมการทำงานระหว่างกล้ามเนื้อตาและมือให้กับเด็ก เช่น บล็อกแบบต่างๆทั้งบล็อกรูปทรงเรขาคณิต บล็อกพลาสติก บล็อกกลวง บล็อกสำหรับหยอดให้ตรงกับรูที่เป็นรูปทรงหรือขนาดของบล็อกที่จะนำมาหยอดให้สัมพันธ์กัน ตัวต่อพลาสติกต่างๆที่เด็กนำมาต่อ เพื่อให้การทำงานระหว่างตาและมือประสานสัมพันธ์กัน การนำลูกโป่งมาให้เด็กเล่นและสัมผัส พ่อแม่อาจจัดเตรียมลูกเต๋าหรือดอกไม้มาให้เด็กเล่นร้อยโดยใช้ลวดขนาดใหญ่หรือเชือกสำหรับร้อย จัดให้เด็กได้เล่นปั้นแป้งโดหรือดินน้ำมัน และมีอุปกรณ์ประกอบการปั้น เช่น มีด หุ่นตัวสัตว์หรือคน ต้นไม้จำ ลอง มีดพลาสติก ไม้ไอศกรีมหรือไม้เสียบลูกชิ้นที่ไม่มีส่วนแหลม หนังสือภาพหรือหนังสือนิทานให้เด็กได้อ่านภาพหรือคำ และฝึกการกวาดสายตาจากซ้ายไปขวา เพื่อฝึกหัดพื้นฐานด้านการอ่าน จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์การวาดภาพระบายสีให้เด็กได้แสดงออกทางด้านศิลปะ และการฝึกฝนการใช้กล้ามเนื้อมือให้สัมพันธ์กับตาตามที่เด็กต้องการ
  • ฝึกให้เด็กปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง กิจวัตรประจำวันจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาการใช้กล้ามเนื้อเล็ก พ่อแม่ผู้ ปกครองควรฝึกให้เด็กทำด้วยตนเอง และให้การเสริมแรงเมื่อเด็กปฏิบัติได้ เช่น การแปรงฟัน การสวมใส่หรือถอดเสื้อผ้า การผูกเชือกรองเท้า การติดกระดุมเสื้อ การรูดซิป การใช้ช้อน – ส้อมในการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำจากแก้ว การจัด เก็บของเล่นไว้ในกล่อง 
  • ฝึกให้เด็กช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆน้อยๆที่ส่งเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อเล็ก กิจกรรมหรืองานบ้านบางอย่างอาจช่วยให้เด็กได้ฝึกฝนการใช้กล้ามเนื้อเล็ก เช่น การให้เด็กช่วยกวาดขยะทำความสะอาดพื้น จะช่วยฝึกให้เด็กสามารถบังคับกล้ามเนื้อของมือและข้อมือให้มั่งคง ให้เด็กกรอกน้ำใส่ขวดเก็บไว้ในตู้เย็น ทำให้เด็กได้ฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อมือและตาโดยควบคุมไม่ให้น้ำหก การให้เด็กช่วยทำกับข้าวในครัวโดยมอบหมายให้เด็กทำสิ่งที่ไม่เป็นอันตราย และเด็กสามารถฝึกฝนการใช้มือ นิ้วมือ เช่น การให้เด็กหั่นผักด้วยมีดพลาสติกหรือมีดที่ไม่มีคมสำหรับเด็ก ให้เด็กช่วยปั้นแป้งทำขนมบัวลอย ฝานผักให้เป็นชิ้นเล็กๆ ให้เด็กได้ช่วยล้างผัก ผลไม้หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว ช่วยเก็บช้อนชามและเครื่องครัวไว้ให้เป็นระเบียบ ให้เด็กเทเครื่องปรุงลงในภาชนะประกอบอาหาร เช่น การเทน้ำตาลลงในหม้อ การใส่ผักลงในกระทะ การเติมเกลือลงในหม้อแกง ฯลฯ 
  • ปลูกต้นไม้ ถ้าที่บ้านของผู้ปกครองมีพื้นที่สามารถทำแปลงเล็กๆ ลองให้เด็กปลูกผักบนแปลง โดยให้เด็กเริ่มปฏิบัติตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูกผัก การพรวนดิน การรดน้ำ การใส่ปุ๋ย ลักษณะของกิจกรรมการปลูกผักจะมีส่วนช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก เด็กได้ใช้มือ นิ้วมือ และสายตาอย่างสมดุล นอกจากนี้การให้เด็กปลูกผักหรือปลูกต้นไม้ยังเป็นการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็กในเรื่องความรับผิดชอบ และสร้างเสริมวินัยในตนเองให้กับเด็กด้วย

 ที่มา http://taamkru.com

ใส่ความเห็น


Shopping cart

0
image/svg+xml

No products in the cart.

Continue Shopping